ฉลอง 16 ปี “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ” พร้อมเปิดตัว App “ฮาลพลัส”

Business

ฉลอง 16 ปี “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ” พร้อมเปิดตัว App “ฮาลพลัส”

ทุกวันที่ 13 สิงหาคมของทุกปีถือเป็นวันครบรอบการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) และในปีนี้เป็นการครบรอบ 16 ปี แห่งการจัดตั้ง ศวฮ. ซึ่ง ศวฮ.ได้มีนโยบายให้จัดงาน “สัปดาห์วิทยาศาสตร์ฮาลาล” ขึ้น เพื่อจัดกิจกรรมวิชาการมอบให้แก่เยาวขน สร้างเวทีเพื่อพัฒนานักเรียน นักศึกษา ให้สามารถสร้างนวัตกรรมตามบริบทของวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนำพาประเทศไทยสู่ Thailand Halal 4.0

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสการครบรอบ 16 ปี ของการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้กำหนด “สัปดาห์วิทยาศาสตร์ฮาลาล” (Halal Science Week 2019) ระหว่างวันที่ 1 – 8 สิงหาคม 2562 เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการเรียนการสอนในด้านวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่ตระหนักมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการสร้างนักวิทยาศาสตร์มุสลิมรุ่นใหม่ในสังคม และส่งเสริมให้องค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลไทยให้เป็นผู้นำในเวทีโลก โดยกิจกรรมตลอดสัปดาห์ประกอบไปด้วยกิจกรรมดีๆ มากมาย อาทิ กิจกรรม Halal Science Camp & Quiz Bowl การแข่งขันตอบปัญหาด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล, การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล Halal Science Competition ในหัวข้อ “นวัตวิถีฮาลาล นำไทยสู่เวทีโลก”, เดิน-วิ่งการกุศล Halal Run For All เดิน-วิ่งการกุศล 16 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Public Hearing การประชาพิจารณ์มาตรฐานสากล


และปิดท้ายกิจกรรมในวันที่ 8 สิงหาคม 2562 กับนิทรรศการสิ่งต้องห้ามและต้องสงสัยตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม Exhibition on Don’ts and Doubts วัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลการเรียนรู้ในงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลและเพื่อประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ รวมถึงนิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้และเป็นแหล่งอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้จัดทำขึ้น ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรม ฮาลาลของประเทศไทย ให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยนิทรรศการประกอบด้วย 4 โซน คือ โซนสิ่งต้องห้ามตามมาตรฐานอาหารฮาลาล, โซนผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเสี่ยงการปนเปื้อนในปัจจุบัน, โซนวัตถุดิบ วัตถุเจือปนอาหารและสารเคมี และโซนสิ่งของ เครื่องใช้และสินค้าอุปโภค


และเพื่อสนับสนุนงานการรับรองฮาลาลของ สกอท.และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (สกอจ.) ศวฮ.ได้พัฒนางานการมาตรฐานฮาลาล (Halal standardization) ขึ้นเพื่อสร้างความสะดวกต่อภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ในการนำมาตรฐานฮาลาลไปสู่การปฏิบัติในภาคการผลิต งานการมาตรฐานฮาลาลดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ดังนี้ (1) การพัฒนาระบบ Halal-HACCP หรือ “ฮาลาล-ฮาสัพ” โดย ศวฮ.ร่วมกับสถาบันอาหารใน พ.ศ.2542 (2) การพัฒนาระบบ Halal-GMP/HACCP หรือ “ฮาลาล-จีเอ็มพี-ฮาสัพ” โดย ศวฮ. ร่วมกับ สกอท.ใน พ.ศ.2550 (3) การพัฒนาระบบ HAL-Q หรือ “ฮาลคิว” ขึ้นโดย ศวฮ. ใน พ.ศ.2553 (4) การพัฒนาระบบ HAL+ หรือ “ฮาลพลัส” โดย ศวฮ.ร่วมกับ สมฮท.และ สกอท. ใน พ.ศ.2562 โดยทำการเปิดตัวในวาระครบรอบ 16 ปี ศวฮ.

งานการมาตรฐานฮาลาลได้รับการพัฒนามาตลอดระยะเวลามากกว่า 16 ปีเป็นการลดระยะเวลาที่ใช้ในการวางระบบ Halal-HACCP จาก 1-2 ปีเป็นน้อยกว่าหนึ่งปีด้วยระบบ Halal-GMP/HACCP ก่อนพัฒนาเป็นระบบ 4×4 ใช้เวลา 3-5 เดือนด้วยระบบ HAL-Q โดยมีภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์เข้าร่วมจัดวางระบบกว่า 1,000 สถานประกอบการ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเต็มตัวกระทั่งเข้าสู่ยุค “ดิสรัพทีฟเทคโนโลยี” (Disruptive Technology) ศวฮ.ที่สะสมประสบการณ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในระยะหนึ่งจึงได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า “ฮาลพลัส” ขึ้นเพื่อร่นระยะเวลาการวางระบบฮาลคิวในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์มีการพัฒนาระบบที่เรียกว่า SPHERE หรือ System Protocol for Halal Electronic Resources Exchange เชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของภาคส่วนต่างๆในงานฮาลาลตั้งแต่ภาคผู้ประกอบการ ภาคองค์กรศาสนาอิสลาม ภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคธุรกิจโครงข่าย ภาคผู้บริโภค ซึ่งส่วนหนึ่งของงานคือการประยุกต์ระบบไอทีเข้ากับงานการมาตรฐานฮาลาลฮาลคิว ครอบคลุมการพัฒนาแอ็พ หรือแอ็พพลิเคชั่น (App หรือ Application) เพื่อสร้างความสะดวกแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสะดวกทางด้านการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการหรือการจับคู่ธุรกิจ (Business matching) นำเอากิจกรรมต่างๆที่ ศวฮ.ร่วมกับ สกอท.และ สมฮท.ดำเนินการ เช่น การจัดงาน Thailand Halal Assembly การจัดประชุมวิชาการ Halal Certification Bodies Convention และ International Halal Science and Technology Conference (IHSATEC) ฯลฯ เข้าร่วมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของประเทศ

ซึ่งเชื่อมั่นว่าแอ็พ “ฮาลพลัส” จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของฮาลาลประเทศไทยที่พัฒนาเข้าสู่ระบบ “ฮาลาลเพื่อทุกคน” ขยายฐานผู้บริโภคจากร้อยละ 17 ของตลาดอาหารโลกสู่ร้อยละ 90 อันเป็นแนวโน้มของเศรษฐกิจฮาลาลที่ประเทศต่างๆทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มตัวในขณะนี้