Novo Nordisk Pharma เปิดกลยุทธ์การตลาดเชิงสัมพันธ์

Business

Novo Nordisk Pharma เปิดกลยุทธ์การตลาดเชิงสัมพันธ์

มุ่งสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งชูจุดเด่นผู้นำด้านนวัตกรรมการรักษาโรค

บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทยาชั้นนำ ด้านการดูแลรักษาสุขภาพระดับโลก ที่มีนวัตกรรมและความเป็นผู้นำในการคิดค้นและผลิตยา โดยเฉพาะยาสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน มามากกว่า 90 ปี ได้จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการภายใต้หัวข้อ “โรคอ้วน ถือเป็นโรคหรือไม่?” โดยในงานได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ อุฟเฟ่อ โวล์ฟเฮชเชล เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย​ ร่วมเป็นประธานในงาน

ฯพณฯ อุฟเฟ่อ โวล์ฟเฮชเชล

คุณจอห์น ดอว์เบอร์ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โนโว นอร์ดิสค์ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และเป็นที่รู้จักในการเป็นผู้นำด้านการดูแลรักษาโรคเบาหวานมาโดยตลอด โดยผลิตภัณฑ์รักษาโรคเบาหวานของเราสามารถทำรายได้ถึง 90% ของยอดขายของบริษัทมานับตั้งแต่เริ่มต้น สำหรับกลยุทธ์การตลาดในประเทศไทยจะมุ่งเน้นการทำการตลาดเชิงสัมพันธ์ (Relationship Marketing) คือการเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยความเป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากว่า 90 ปี เราจึงมีความสามารถในการคิดค้นและพัฒนายาที่สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง

คุณจอห์น ดอว์เบอร์

ปัจจุบัน บริษัทโนโว นอร์ดิสค์ ดำเนินงานอย่างไม่หยุดยั้งที่จะวิจัยและพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโรคเบาหวานและโรคอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้ เช่นโรคอ้วน เพื่อช่วยดูแลและป้องกันให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยตามแนวทางของโนโว นอร์ดิสค์ นั้น จะมุ่งเน้นการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เราให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยทางคลินิกในประเทศไทย เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุด ประกอบกับมีรายงานชี้ว่าในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประชากรมีน้ำหนักเกินมากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศมาเลเซีย การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของโรคอ้วนในประเทศไทยทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญ และคิดค้นวิจัยผลิตภัณฑ์ในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วน ดังนั้นวันนี้เรามีความยินดีที่จะเป็นกระบอกเสียงให้สัมคมหันมาตระหนักรู้ถึงอันตรายของโรคอ้วน และมีนวัตกรรมยาในการแก้ปัญหาดังกล่าว”

ผศ.พญ. ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร

ด้านผศ.พญ. ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร หัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์ โภชนศาสตร์คลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นผู้นำในการบรรยายภายใต้หัวข้อ “โรคอ้วน ถือเป็นโรคหรือไม่?” กล่าวว่า “จากรายงานสุขภาพของคนไทยโดยสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนังสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ และมหาวัทยาลัยมหิดลชี้ว่า คนไทยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นตามประมาณการตัวเลขจากสหพันธ์โรคอ้วนคาดว่าในอีก 8 ปี ข้างหน้าจะมีคนน้ำหนักเกินมาตรฐานรวมถึง 2,700 ล้านคนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอันตรายต่าง ๆ มากมาย อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคเข่าเสื่อม นิ่วในถุงน้ำดี และโรคมะเร็งเป็นต้น ทั้งนี้ผู้ที่สงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคอ้วนสามารถวัดดัชนีมวลกาย BMI เพื่อประเมินเบื้องต้นได้ แต่อย่างไรก็ตามควร ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อได้รับการประเมินและรักษาที่ถูกต้อง”

ชมะนันทน์ วรรณวินเวศร์

ชมะนันทน์ วรรณวินเวศร์ ซึ่งมาให้ความรู้การเขียนและโพสต์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาผ่านช่องทางออนไลน์อย่างมีจริยธรรมและถูกกฎหมายได้ให้ความเห็นว่า “ในปัจจุบันผู้บริโภคต้องพบเจอกับการโฆษณาบนสื่อโซเชียลต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก รวมไปถึงการขายยาลดน้ำหนักผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคทั่วไปควรตรวจสอบ รายละเอียดของสินค้า และแหล่งที่มาของข้อมูลว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภทยา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องจำหน่ายโดยสถานพยาบาล และควรได้รับการวินิจฉัยและให้คำแนะนำจากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ดังนั้นหากมีการพบเห็นการขายยาผ่านช่องทางออนไลน์ อาจนับได้ว่าเป็นการขายยาปลอมและเป็นการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ท่านสามารถร้องเรียนไปที่หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือแจ้งที่องค์การอาหารและยา (อ.ย.) เพื่อให้มีการดำเนินการตามกฏหมายได้”

###